Menu Blog

วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

เที่ยวงานเทศกาลญี่ปุ่นในช่วงฤดูแห่งดอกไม้ไฟ

เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูร้อนของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกันยายนของทุกปีที่อากาศจะร้อนจัดและชื้น จนทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยหลายๆ คนไม่นิยมเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นเหมือนกับช่วงฤดูอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายอย่างมาก เพราะฤดูร้อนของญี่ปุ่นนั้นถือเป็นช่วงเวลาแห่งความอุดมสมบูรณ์ของแมกไม้สายพันธุ์ต่างๆ และดอกอะจิไซหรือดอกไฮเดรนเยียหลากสีที่พากันออกดอกบานสะพรั่ง รวมถึงยังถูกเรียกว่าเป็นฤดูกาลแห่งดอกไม้ไฟที่เต็มไปด้วยงานเทศกาล และการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่และสนุกสนาน ซึ่งจะมีเทศกาลอะไรบ้างนะ วันนี้มัชรูมทราเวลขอชวนทุกท่านไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองนี้ดูสักครั้ง

เทศกาลซันโนะ 



งานเทศกาลซันโนะหรือซันโนะซังเป็นงานเฉลิมฉลองของศาลเจ้าฮิเอะที่จัดขึ้นทุกวันที่ 1-2 มิถุนายนของทุกปี ณ บริเวณรอบๆ ปราสาทโทยามะมาตั้งแต่สมัยคิวฮัง โดยภายในงานนอกจากจะมีกิจกรรมต่างๆ แล้ว ยังมีการออกร้านค้ามากมายเรียงรายอยู่รอบๆ บริเวณปราสาทไปจนถึงศาลเจ้า ทั้งนี้เทศกาลซันโนะคือหนึ่งในงานเทศกาลของเมืองโทยามะที่ชาวเมืองต่างนิยมชมชอบกันมากที่สุด

เทศกาลม้า 

 

เทศกาลม้าเป็นเทศกาลประจำปีของเมืองอุตสึโนะมิยะจังหวัดโทะจิงิ โดยงานจะถูกจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกของเดือนมิถุนายนที่สถาบันวิจัยม้า JRA บนถนนเส้นคานุมะ ซึ่งงานจะเริ่มต้นเมื่อเวลา 10.00 น. ซึ่งภายในงานมีการพาทัวร์เที่ยวชมสถานที่ต่างๆ ภายในบริเวณ รวมทั้งชมการแสดงขี่ม้าผาดโผนประกอบดนตรี ขบวนพาเหรด การยิงธนูบนหลังม้า กิจกรรมสำหรับเด็ก และเดินเลือกซื้อของที่ระลึกจากร้านรวงต่างๆ ที่ตั้งเรียงรายภายในสถาบันวิจัยม้าแห่งนี้

เทศกาลกิออน 

 

เทศกาลกิออนเป็นงานเทศกาลของศาลเจ้ายาซากะแห่งเมืองเกียวโตที่ใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถูกจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ในช่วงวันที่ 1-15 กรกฎาคมของทุกปี โดยจุดประสงค์ของการจัดงานก็เพื่อขับไล่ปีศาจที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บในสมัยโบราณนั่นเอง ซึ่งกิจกรรมภายในงาน ผู้มาร่วมงานจะได้พบกับขบวนพาเหรดบอลลูนอันหรูหราตระการตาถึง 12 แบบ ที่จะถูกแห่ไปรอบๆ เมืองเกียวโตเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมประเพณีที่สำคัญนี้ 

เทศกาลแห่งดวงดาว

 

เทศกาลแห่งดวงดาวหรือทานาบาตะเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นในทุกวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ซึ่งตามตำนานได้กล่าวถึงเรื่องราวความรักที่ถูกขัดขวางระหว่างดวงดาววีก้าหรือเจ้าหญิงทอหูกที่อยู่ทางทิศตะวันออก และดวงดาวอัลแทร์หรือหนุ่มเลี้ยงวัวที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก แต่ในช่วงวันที่ 7 เดือน 7 จะเป็นช่วงที่ดาวทั้งสองดวงได้โคจรมาใกล้กันที่สุดในรอบหนึ่งปี ดังนั้นชาวเมืองเซนไดจึงได้จัดงานเฉลิมฉลองด้วยการประดับประดาต้นไผ่และกิ่งไผ่ด้วยดาวกระดาษให้ปลิวไสวไปทั่วเมือง รวมทั้งยังตัดกระดาษเป็นรูปคล้ายโซ่เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของทางช้างเผือก และเขียนคำอธิษฐานลงบนกระดาษสีแล้วนำไปแขวนไว้บนต้นไผ่ด้วย ไม่เพียงเท่านั้น ภายในงานยังมีขบวนพาเหรดที่ใหญ่โตสวยงาม โดยจังหวัดที่นักท่องเที่ยวนิยมไปร่วมฉลองเทศกาลนี้มากที่สุดก็คือจังหวัดมิยางิและคานางาวะ

เทศกาลไฟ 

 

เทศกาลไฟเป็นงานเทศกาลประจำศาลเจ้านาจิ คัตสึอุระเมืองวากายามะ ซึ่งมีสถานะเป็นงานเทศกาลที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่นอีกงานหนึ่ง โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วง 1,700 ปีก่อน ในช่วงวันที่ 14 กรกฎาคม เพื่อเฉลิมฉลองการมาเยือนของเทพเจ้าแห่งน้ำตกนาจิที่มีความสูงถึง 133 เมตร ตั้งอยู่ภายในบริเวณภูเขานาจิ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้านาจิอีกด้วย ภายในงานหนุ่มๆ วัยฉกรรจ์ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะแบกคบเพลิงขนาดใหญ่ซึ่งมีน้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม ขึ้นบันไดที่ทอดตัวยาวขึ้นไปสู่น้ำตกพร้อมส่งเสียงตะโกนอย่างฮึกเหิมไปตลอดทาง 

เทศกาลเท็นจิน 

 

เทศกาลเท็นจินเป็นงานใหญ่ 1 ใน 3 ของชาติและเมืองโอซาก้าที่มีผู้เข้าร่วมงานในแต่ละปีมากถึง 2 ล้านคน ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงวันที่ 24-25 กรกฎาคม โดยเป็นงานแห่เทพเจ้าทสึกาวาระ โนะ มิชิซาเนะแห่งศาลเจ้าคู่บ้านคู่เมืองอย่างศาลเจ้าเทนมุงงูที่ชาวโอซาก้าให้ความเคารพสักการะไปทั่วเมืองทั้งทางบกและทางน้ำ โดยขบวนแห่งทางน้ำนั้นจะเริ่มต้นด้วยการลอยหอกเทพเจ้าไปตามสายน้ำของแม่น้ำโอกาวะเสียก่อน จากนั้นเมื่อหอกลอยไปติดฝั่งตรงบริเวณไหน ที่นั่นก็จะกลายเป็นจุดหมายปลายทางของการล่องเรือเทพเจ้านั่นเอง นอกจากนั้นในช่วงค่ำคืน ชาวเมืองก็จะพากันแต่งชุดยูกาตะเพื่อไปเที่ยวงานภายในศาลเจ้าที่มีมีการออกร้านขายสินค้าต่างๆ มากมาย 

เทศกาลเนบุตะ  


 
เทศกาลเนบุตะเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นที่เมืองอาโมริในวันที่ 1- สิงหาคม ซึ่งในวันแรกจะเป็นการเฉลิมฉลองคืนก่อนวันเทศกาล วันที่2- 3 เป็นการของพวกเด็กๆ วันที่4- 6 จะมีการจัดแสดงของหุ่นโครงกระดาษขนาดใหญ่ ส่วนในวันสุดท้ายก็จะรวมกันทั้งหมดเพื่อบูชาเทพเจ้ามอฟีสและปลุกให้ตื่นจากการหลับใหลแล้วกลับมาทำงาน ซึ่งไฮไลท์ของเทศกาลนี้ก็คือขบวนพาเหรดที่นำทางด้วยโคมไฟเก่าแก่ รวมถึงโคมไฟแบบต่างๆ ที่ถูกลอยให้สูงขึ้น ทั้งเป็นรูปเทพเจ้า ซามูไร ปีศาจ สัตว์น่ารักๆ เป็นต้น  

เทศกาลคันโต 

 

เทศกาลคันโตเป็นงานเทศกาลที่จัดขึ้นในเมืองอาคิตะ ระหว่างวันที่ 3- 6 เดือนสิงหาคม ซึ่งคันโตก็คือไม้ไผ่ลำยาวที่ถูกต่อขึ้นมาเพื่อใช้แขวนโคมกระดาษที่ห้อยเป็นแถวๆ ประมาณ 9 ชั้น โดยโคมไฟกระดาษนี้ก็มีขนาดที่ต่างกันออกไปถึง 3 ขนาดคือ เล็ก กลาง และใหญ่ ซึ่งขนาดใหญ่นั้นจะประกอบด้วยโคมไฟถึง 40 อัน มีความสูง 12 เมตร และมีน้ำหนักถึง 50 กิโลกรัม โดยผู้แห่โคมไฟจะใช้ศีรษะและมือเพื่อทำให้คันโตะแต่ละอันทรงตัวอยู่ได้ คล้ายๆ กับการเล่นกายกรรมนั่นเอง นอกจากนี้ภายในงานเทศกาลยังมีการประกวดแข่งขันคันโตะในวันที่ 4-8 ของงานเทศกาลอีกด้วย

เทศกาลฮานางาซะ 

 

เทศกาลฮานางาซะคือ 1 ใน 4 ของเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคโทโฮคุ ซึ่งตลอด 3 วันของการจัดงาน เมืองยามางาตะโดยเฉพาะในช่วงเย็นจะคึกคักไปด้วยเสียงกลองฮานางาซะและเสียงขับร้องเพลงที่ดังก้อง พร้อมๆ กับการขับเคลื่อนของขบวนพาเหรดไปตามถนนสายหลักของเมือง ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมในขบวนพาเหรดสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันรวมแล้วมากกว่า 1 หมื่นคน โดยผู้ที่ออกมาร่ายรำจะแต่งกายในชุดยูกาตะสีสันสดใส โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดหลักของฮานางาซะ โอโดรินั้นจะมีหมวกที่ประดับด้วยดอกคำฝอยประดิษฐ์เป็นเอกลักษณ์สำคัญ นอกจากนี้ก็ยังมียะไตที่ตกแต่งอย่างสวยงามแปลกตาออกมาให้ชมกันบนท้องถนนอีกด้วย

เทศกาลระบำอาวะ 

 

ระบำอาวะเป็นหนึ่งในเทศการระบำที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 400 ปี โดยในวันงานชาวเมืองโทกุชิมะและนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเป็นล้านๆ คนจะแห่กันมารอชมขบวนเต้นรำที่ยิ่งใหญ่และน่าตื่นตาตื่นใจกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งงานนี้จัดขึ้นในวันที่ 12 -15 สิงหาคมของทุกปี 

เทศกาลโอบง

 

เทศกาลโอบงจัดขึ้นทุกวันที่ 13 - 16 สิงหาคมของทุกปี อันเป็นช่วงที่ชาวญี่ปุ่นต่างพากันเดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อทำความสะอาดหลุมฝังศพและเซ่นไหว้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ด้วยความเชื่อที่ว่าดวงวิญญาณคนตายจะกลับลงมาเยี่ยมญาติพี่น้องยังโลกมนุษย์ ดังนั้นตามบ้านเรือนจึงมีการจุดตะเกียงหรือคบเพลิงเพื่อส่องนำทางดวงวิญญาณเหล่านั้นให้หาทางกลับบ้านได้ โดยภายในงานจะมีการร่ายรำพื้นบ้านบงโอโดริอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น